ผลกระทบจากสงคราม ผู้ลี้ภัย และน้ำมันแพง ตลอดปี 2567

ผลกระทบจากสงคราม
ที่ชายแดนไทย-พม่า
เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย
1.รัฐบาลไทยต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้อพยพชาวพม่าซึ่งทะลักเข้ามาที่ชายแดนประเทศไทย ให้มีที่พัก อาหาร และการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ

ต้องเจรจากับทุกฝ่ายให้มีเขตปลอดการสู้รบ หลายจุด เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถอยู่ในแดนพม่าให้มากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าสงครามจะขยายไปแค่ไหน ยืดเยื้อนานเท่าใด ผู้อพยพจะมากแค่ไหน อาจมีเป็นล้านคน

ต้องให้ความช่วยเหลือ เพื่อดำรงชีวิต ผู้หนีภัยต้องมีอาหารกิน มีน้ำสะอาดบริโภค ถ้าหากเกิดโรคระบาดอาจจะมีผลทั้งฝั่งพม่าและประเทศไทย

2. ในทางการเมืองรัฐบาลจะต้องมีตัวแทนเจรจาคบหากับทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม การเป็นกลางไม่ใช่การอยู่เฉยๆ ถ้าได้รับการยอมรับอาจช่วยเจรจาให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะในช่วงสุดท้ายของความขัดแย้งที่มีกองกำลังหลายกลุ่ม ยังต้องจบด้วยการเจรจา

3. ต้องพยายามให้มีการส่งสินค้า มีการค้าขาย ดำเนินต่อไป สินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งเข้าไปในพม่า จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดำเนินต่อไปได้ทั้งฝั่งไทยฝั่งพม่า ทำให้ผู้อพยพน้อยลง

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ถ้ายังมีการสู้รบชิงพื้นที่รอบเมียวดี จะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากด่านเมียวดี-แม่สอดคือด่านการค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำมัน

โดยการส่งออกผ่านเส้นทางเมียวดีไปย่างกุ้งและหงสาวดีย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน การค้าระหว่างไทย-พม่านั้น 90% เป็นการค้าชายแดน ซึ่งมีมูลค่าส่งออกและนำเข้าผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด จ.ตาก ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท

รายได้รัฐบาลทหารพม่าลดลง อิทธิพลและอำนาจก็จะลดลง

รายได้จากทรัพยากร เช่น หยก แร่และป่าไม้ กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือคงไม่แบ่งให้แล้ว

รายได้จากการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก

รายได้จากภาษีค้าขายซึ่งต่อไปสินค้าผ่านเขตใคร กลุ่มที่คุมเขตนั้นก็จะเป็นคนเก็บภาษี

รัฐบาลยังมีรายได้แหล่งสุดท้ายจะมาจากทางด้านทะเลซึ่งมีท่าเรือและทรัพยากรทางทะเลหรือสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซ

 

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ปัญหาฝุ่น PM 2.5
ถ้าเรายอมรับว่าฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาป่าหรือไฟไหม้ป่า การเผาป่าทางด้านประเทศพม่า ขณะนี้ไม่ได้เกิดจากที่พวกเขาทำการปลูกอ้อย ข้าวโพด หรือพืชเกษตรเพื่อนำมาขาย ดังนั้น ต่อให้ประกาศว่าจะไม่ซื้อพืชเกษตรที่ผ่านการเผามาแล้วก็จะไม่มีผลอะไร

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นในการดำรงชีวิตในยามสงครามของประชาชน โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นธัญพืชหลัก บางส่วนอาจจะเป็นข้าวโพด ในสภาพสงครามแบบนี้ ทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ของประเทศพม่าไม่สามารถมีหลักประกันใดๆ ว่าจะมีข้าวปลาอาหารส่งมาถึง การพึ่งตนเองจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้น ในทุกกลุ่มชาติพันธุ์แม้แต่คนพม่าที่อยู่ในพื้นที่ราบต่างๆ ก็ต้องหาวิธีสะสมข้าว

การเปิดพื้นที่เพาะปลูกไม่ว่าจะในที่ราบหรือตามเชิงเขาจึงเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่ในสภาพขณะนี้แทบทุกจุดจะใช้การเผาไร่เก่าหรือฟางในท้องนาและทำการปลูกข้าวใหม่ลงไป ไม่ต้องไปพูดถึงรถไถ ซึ่งไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่ลาดชันได้และไม่มีน้ำมัน ดังนั้น เมื่อฤดูแล้งมาถึง การเผาครั้งมโหฬารจึงเกิดขึ้นแทบจะทุกจุดที่ปลูกข้าวได้ เมื่อฝนมาการเผาก็หยุดลง และการปลูกข้าวก็จะเริ่มขึ้น ปล่อยให้เติบโตไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว

การกักเก็บข้าวไว้เป็นอาหารในเขตที่ห่างไกลเป็นเรื่องจำเป็น มีเฉพาะบางเขตเท่านั้นที่มีความสะดวกเนื่องจากมีการค้าขายมีถนนหนทางดี

ข้าวจึงมีความสำคัญเท่ากับอาวุธเพราะกองทัพที่ไม่มีเสบียงย่อมอยู่ไม่ได้ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องเน้นการเตรียมเสบียงเป็นสำคัญ เพราะไม่รู้ว่าสภาพสงครามจะทำให้ถูกปิดล้อมเมื่อใดหรือสงบเมื่อใด

การใช้ชีวิตในเขตนอกเมือง เมื่อไม่มีน้ำมัน ไม่มีก๊าซ หรือมีแต่หายากมาก สิ่งที่ชาวบ้านจะทำได้ก็คือใช้ไม้ฟืน หรือถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหาร ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการเผา

ดังนั้น การเผายังคงอยู่อีกนาน…

 

แหล่งข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_763944

Loading

Total Views: 92 ,