บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ความหวังของเด็กนักเรียนไร้รัฐ

ประเทศไทยมีเด็กนักเรียนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มากถึง 1.5 แสนคน พวกเขาอยู่ในภาวะไร้ตัวตน ภาครัฐจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนแก่เด็กกลุ่มนี้ แต่ล่าสุดการตรวจสอบทำไปได้เพียง 5 หมื่นคน

การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน และอดีตเด็กไร้รัฐในพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล และตรวจสอบ เพื่อจัดทำบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน

แม้จะเป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านใหม่หนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ แต่มะลิ หนานทอง ก็เต็มใจทำหน้าที่ล่ามภาษาจีนให้ครู สื่อสารผู้ปกครอง และ เด็กนักเรียนรุ่นน้อง เพื่อจัดทำประวัติกลุ่มนักเรียนรหัสG หรือ บัตรประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา สำหรับเด็กที่ยังไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

หากพบว่าเข้าเรียนต่อเนื่อง ไม่มีสัญชาติอื่น ไม่มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรและเดินทางไป-กลับเพื่อศึกษา รวมทั้งไม่ใช่ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ก็จะได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติ “บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน”

มะลิ หนานทอง นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนบ้านใหม่หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ (ล่ามภาษาจีน)

มะลิ หนานทอง นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนบ้านใหม่หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ (ล่ามภาษาจีน)

มะลิ เล่าว่าเธอเคยเป็นหนึ่งในนักเรียนไร้รัฐ รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างตัวเอง และ เพื่อนๆ ที่มีบัตรประชาชน บางครั้งรู้สึกน้อยใจที่สถานะทางทะเบียนกลายเป็นข้อจำกัดสิทธิ์หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการรับทุนการศึกษา แต่เมื่อปีก่อน ครู และ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นมือเข้ามาช่วยตรวจสอบสถานะให้ จนได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้ มะลิ เข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาล สิทธิ์การเดินทาง สิทธิ์ในการทำธุรกรรมการเงิน และ สิทธิ์อื่นๆ ที่มีความเสมอภาคมากขึ้น

ในอดีต ถ้าหนูจะไปไหน ต้องไปยื่นเรื่องการเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอ และ ขอใบรับรองจากทางโรงเรียน ส่วนเรื่องทุนการศึกษา มักจะมีวงเล็บว่าเฉพาะผู้ที่มีบัตรประชาชน ทำให้หนูพลาดหวังหลายครั้ง

อยากจะขอบคุณผู้ใหญ่ที่มอบโอกาสให้กับพวกหนู บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ถึงจะไม่ใช่บัตรประชาชน แต่ก็เป็นบัตรที่ยืนยันได้ว่าพวกหนูมีสถานะอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และ มีเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากมะลิแล้ว โรงเรียนบ้านใหม่หนองบัว ยังมีเด็กรหัสG อีกกว่า 200 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดกว่า 900 คน ขณะที่ทั้งอำเภอมีเด็กรหัสGเกือบ 800 คนจาก 17 โรงเรียน

ถือเป็นความโชคดีของมะลิ และ เพื่อนๆ เมื่อครูกับฝ่ายทะเบียนอำเภอ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมพินิจ และ คุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันเร่งรัดตรวจสอบสถานะของเด็กๆ และ พบว่ามีรายชื่อนักเรียนที่ต้องดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ 540 คน ในจำนวนนี้ขาดคุณสมบัติ 283 คน และเป็นผู้มีคุณสมบัติได้รับบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน 257 คน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงจัดพิธี รับมอบบัตร 13 หลัก และ ปฏิญาณเป็นพลเมืองที่ดี เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และ ภาคเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และ มูลนิธิพันธกิจลอว์ เป็นต้น

ปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระบุว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล 2 ส่วน ส่วนแรก คือการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม เข้าไปช่วยในการสอบพยาน

ส่วนที่ 2 คือ การดำเนินการในสถานพินิจ รวมทั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในสังกัด 20 แห่งทั่วประเทศ ก็มีการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ให้เยาวชนที่ไม่มีสถานะบุคคล ได้มีโอกาสได้รับการแก้ไขสถานะให้ถูกต้อง

รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ มองว่า กลุ่มเด็กไร้รัฐ ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ควรที่จะให้เขาได้มีสิทธิ์ต่างๆ เพื่อจะมีตัวตนในสังคม มีสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าในเรื่องของการเรียน การรักษาพยาบาล หรือ รวมถึงมีเสรีภาพ สามารถที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยปลอดภัย และ ไม่สร้างปัญหาต่างๆ

การแก้ปัญหาสถานะตั้งแต่วันนี้ เป็นอีกภารกิจของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ เพราะการให้สิทธิ์พื้นฐานต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการป้องกันเยาวชนกระทำผิด หรือ ละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยที่ไม่รู้ เพราะขาดโอกาสทางการศึกษา จนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการงานขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าหากย้อนไปเมื่อปี 2560 แทบไม่มีหน่วยงานไหนรู้จักเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในโรงเรียนที่ถือบัตรประจำตัวซึ่งขึ้นต้นด้วยอักษรG จนเมื่อมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจ หน่วยงานต่างๆ จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการที่้เป็นหน่วยงานหลัก กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงยุติธรรม ที่จับมือกัน สามารถแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้สำเร็จ แต่ยังมีข้อจำกัดในจังหวัดอื่นๆ ว่าจะทำยังไงให้เกิดความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาให้กับเด็กไร้รัฐ

สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการงานขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการงานขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

สุมิตร มองว่าหนึ่งในข้อจำกัด คือ การตีความสถานะของเด็ก โดยเด็กที่เป็นลูกหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ บุคคลบนพื้นสูง มักจะไม่มีปัญหา สามารถจะแก้ปัญหาทางสถานะทางทะเบียนได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือ กลุ่มผู้ปกครองที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ หรือเป็นลูกหลานของแรงงาน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ยังไม่สามารถจะได้รับการแก้ปัญหา ในอนาคตจึงคาดหวังให้กรมการปกครองมีหนังสือสั่งการ หรือ แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะให้เด็กทุกคนที่อยู่ในสถานศึกษา

โดยหากประเทศไทยมีเป้าหมายในการขจัดความไร้รัฐให้เด็กในสถานศึกษา กลุ่มลูกหลานของพี่น้องแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็ควรจะให้เลข 13 หลักได้ตามข้อเท็จจริง คือ ผู้ติดตามแรงงาน

หากเราแก้ปัญหาเรื่องสถานะได้ อย่างน้อยเวลาเด็กๆ เกิดเรื่องราวที่ไม่ดี หรือ ทำผิดกฎหมาย หน่วยงานก็สามารถจะติดตามเขาได้ แต่เมื่อไหร่ที่เด็กยังไม่มีตัวตน ไม่มีสถานะตามกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบติดตาม และ การพิสูจน์ มันแทบไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความมั่นคงของชีวิตของเด็ก มันก็เป็นความมั่นคงของประเทศชาติเราด้วย

ล่าสุดประเทศไทย เด็กนักเรียนรหัส G มากถึง 1.5 แสนคน ที่ผ่านมา ได้รับการตรวจสอบสถานะไปเพียง 5 หมื่นคน โดยพบว่าในจำนวนนี้ ไม่สามารถติดตามได้ 14,000 คน ขาดคุณสมบัติ 7,200 คน และ ได้รับการกำหนดเลข 13 หลักแล้ว 29,000 คน

แหล่งที่มาของข่าว : https://www.thaipbs.or.th/news/content/346530

Loading

Total Views: 16 ,