กสม. ชี้ไม่กำหนดรหัส G ให้เด็กนักเรียนไร้สถานะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2567 กสม. ชี้ไม่กำหนดรหัส G ให้เด็กนักเรียนไร้สถานะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน – ชงข้อเสนอแนะในการออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 7/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ตรวจสอบกรณี สพป. เพชรบุรี ไม่กำหนดรหัส G ให้เด็กนักเรียนไร้สถานะ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแกนนำประสานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า นักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยของโรงเรียนบ้านป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) จำนวน 27 คน ไม่ได้รับการกำหนดและรับรองรหัสประจำตัวผู้เรียน (รหัส G) จากสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เพชรบุรี เขต 2 (ผู้ถูกร้องที่ 2) ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษา เช่น ไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ค่าอาหารกลางวัน และค่าอาหารเสริม (นม) จึงรับไว้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ประกอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนที่จะได้รับการศึกษา และการจัดการศึกษาระดับประถมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี สิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนโดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการรับเข้าเรียน ลงทะเบียนนักเรียน นักศึกษา การออกหลักฐานทางการศึกษา และให้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่บุคคลดังกล่าว ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอัตราเดียวกันกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย

นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ประกอบหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04006/ว 2813 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 กำหนดให้สถานศึกษารับเด็กหรือบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน ซึ่งหากเด็กไม่มีเอกสารหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน โดยให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัวนักเรียน (รหัส G ) ให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ผ่านระบบ G Code และให้นายทะเบียนหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบข้อมูลเพื่อรับรองหรือไม่รับรองรหัส G สำหรับใช้ในการแสดงตัวตน และใช้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนต่อไป ทั้งนี้ สถานศึกษาจะต้องกำหนดรหัส G ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากรับนักเรียนเข้าศึกษา

จากการตรวจสอบปรากฏว่า ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านป่าเด็ง ผู้ถูกร้องที่ 1 รับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน และอยู่ระหว่างกำหนดรหัส G จำนวน 27 คน โดยในกระบวนการกรอกข้อมูลนักเรียนพร้อมกับแนบเอกสารเข้าระบบ G Code เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 ผู้ถูกร้องที่ 2 ตรวจสอบ พบว่ามีนักเรียนจำนวน 18 คน ที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่พบหลักฐานสำเนาสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านหรือเลขประจำตัว 13 หลักของบิดาหรือมารดา แต่พบหลักฐานอื่น เช่น สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำเนาทะเบียนประวัติชุมชนพื้นที่สูง (ชาวเขา 9 เผ่า) หนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน หนังสือรับรองการไม่มีตัวตน (แบบ พฐ.23) ซึ่งไม่สามารถยืนยันตัวตนหรือรับรองรหัส G ได้ ประกอบกับระบบ G Code กำหนดให้กรอกข้อมูลผู้ปกครองในส่วนของเลขประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดา ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงไม่รับรองรหัสให้แก่นักเรียนทั้ง 18 คน เป็นเหตุให้นักเรียนจำนวนดังกล่าวไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม)

ขณะที่นักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยอีก 9 คน ซึ่งมีหลักฐานเลขประจำตัว 13 หลักของบิดาหรือมารดา ผู้ถูกร้องที่ 2 สามารถรับรองรหัส G ให้ได้ และโรงเรียนสามารถเพิ่มข้อมูลนักเรียนทั้ง 9 คน ในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center) หรือ ระบบ DMC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้
กรณีดังกล่าว กสม. เห็นว่า การที่โรงเรียนรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน จะต้องเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับของนักเรียนให้ครบถ้วนทุกราย ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 ได้แก่ (1) สูติบัตร (2) หนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน (3) หลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้ (4) ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชนทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบ เป็นหลักฐานทางการศึกษา หรือ (5) ให้สถานศึกษาซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบ เป็นหลักฐานทางการศึกษา ซึ่งในกรณีนี้ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่เรียกหลักฐานให้ครบตามระเบียบ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04006/ว 2813 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 พิจารณาเฉพาะหลักฐานคือสำเนาสูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาหรือมารดาเท่านั้น โดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานอื่น เช่น บันทึกแจ้งประวัติบุคคล หรือ บันทึกการซักถามประวัติโดยสถานศึกษา (ซึ่งโรงเรียนมิได้ดำเนินการเรียกหลักฐานให้ครบถ้วน) เป็นเหตุให้นักเรียนไม่ได้รับการรับรองรหัส G และไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการศึกษา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงกรอบระยะเวลาในการกำหนดรหัส G ตามกฎหมาย ซึ่งสถานศึกษาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากรับนักเรียนเข้าศึกษา การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการกำหนดรหัส G ล่าช้า ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาเช่นกัน

ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า ระบบ G Code ไม่ได้กำหนดความจำเป็นในการกรอกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขจากบัตรอื่น ๆ ของบิดาหรือมารดา รวมทั้งการกรอกข้อมูลผู้เรียน หากไม่ทราบวันเดือนเกิดให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม หากไม่ทราบสัญชาติและเชื้อชาติให้กรอกข้อมูลว่า “ไม่ระบุสัญชาติ” หากไม่มีสำเนาสูติบัตรให้แนบหลักฐานทางการศึกษาอื่นได้

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมีมติว่าผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการไม่รับรองและรับรองรหัส G ให้นักเรียนล่าช้า โดยมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องทั้งสองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ให้โรงเรียนบ้านป่าเด็ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 (ผู้ถูกร้องที่ 2) กำหนดรหัส G ให้แก่นักเรียนที่ยังไม่ได้รับการกำหนดรหัสอีก 18 คน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เสริมความรู้ให้แก่ผู้ถูกร้องทั้งสอง และให้โรงเรียนบ้านป่าเด็ง ประสานผู้ปกครองของนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งให้กับสำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน เพื่อแจ้งขอจัดทำเอกสารทะเบียนราษฎร และบัตรประจำตัวในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรด้วย

(2) ให้สำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน เร่งรัดจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามหน้าที่และอำนาจให้นักเรียน ต่อไป

(3) ให้กระทรวงศึกษาธิการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดรหัส G ในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับบริการการศึกษาสำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรให้แก่หน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันและถือปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น ความมุ่งหมายการกำหนดรหัส G การกรอกข้อมูลตามความจำเป็น เป็นต้น

2. กสม. ชงข้อเสนอแนะในการออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เน้นประชาชนมีส่วนร่วม และผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย

นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กำหนดให้ประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในปี 2567 และได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงมีครรภ์ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ มาอย่างต่อเนื่อง กสม. เห็นว่า สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด (Right to breathe clean air) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ซึ่งรับรองโดยข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 และข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 สิทธิดังกล่าวเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ โดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและสิทธิด้านสุขภาพ ดังนั้น รัฐจึงมีพันธกรณีในการเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิดังกล่าวเป็นจริงด้วยมาตรการทางกฎหมาย บริหาร และตุลาการ

สำหรับความก้าวหน้าของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่าสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 มีมติรับหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด 7 ฉบับ อันประกอบด้วย ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ฉบับเข้าชื่อโดยภาคประชาชน และฉบับของพรรคการเมืองอีก 5 พรรค โดยปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. วาระที่สอง ซึ่ง กสม. เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ โดยภาพรวมมีเนื้อหาสาระเชิงบวกที่จะช่วยให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีในการส่งเสริม คุ้มครอง และทำให้ประชาชนบรรลุสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดได้

อย่างไรก็ดี กสม. มีความกังวลว่าหากการจัดทำกฎหมายไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดข้อห้ามและบทลงโทษตามกฎหมายต่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น การห้ามเผา หรือห้ามการใช้ยานพาหนะ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและสิทธิของประชาชนบางกลุ่มอย่างไม่ได้สัดส่วน และเพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความครอบคลุม สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น กสม. จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการตรากฎหมายอากาศสะอาดในประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

การรับรองสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ในกฎหมาย ควรบัญญัติรับรองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด สิทธิของผู้ได้รับอันตรายด้านสุขภาพจากภาวะมลพิษทางอากาศในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิของกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้เท่าเทียมกับคนอื่น และสิทธิเชิงกระบวนการ (Procedural Rights) ที่อย่างน้อยควรครอบคลุมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เห็นควรบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวในขั้นตอนของการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามกฎหมายด้วย

การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการตามกฎหมาย ทั้งในส่วนคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้มีกรรมการโดยตำแหน่งไม่มากจนเกินไป นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างสมดุล

การลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิด ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติในการลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ และในส่วนของการห้ามเผาในที่โล่ง ควรให้บทบาทแก่ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้คำนึงถึงความรุนแรงของสภาวะมลพิษ วิถีวัฒนธรรม ความเป็นธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคม ความจำเป็นในการเผาในที่โล่ง และผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ควรเปิดช่องให้มีการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นนอกจากการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้มาตรการและไม่ให้เกิดผลกระทบจนเกินสมควรต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะในการประกอบอาชีพ

การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ควรพิจารณาทั้งในมิติการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากประเทศอื่นที่ส่งผลกระทบเข้ามายังประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น

การกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ ควรให้ภาคส่วนอื่น รวมถึงองค์กรเอกชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หรือภาคประชาสังคม มีสิทธิเสนอให้คณะกรรมการอากาศสะอาดฯ พิจารณาประกาศเขตดังกล่าวได้

การกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เพื่อการจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนวิถี การผลิต หรือกิจกรรมที่ก่อมลพิษเพื่อนำไปสู่มาตรฐานที่ลดการสร้างมลพิษทางอากาศ กสม. เห็นด้วยกับการเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ซึ่งร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเพิ่มเติมในส่วนนี้

การจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาด เห็นควรจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนรองรับเงินที่ได้จากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษทางอากาศ และเป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้จ่ายในการดำเนินการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ทั้งในเชิงการป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย

นอกจากนี้ ในเรื่องความรับผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความเป็นธรรม รวมถึงควรยกเลิกการใช้โทษทางอาญา และเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งเอื้อให้เกิดการบังคับโทษอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละรายมากกว่า นอกจากนี้ ควรยกเลิกความผิดฐานแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริง (ร่างมาตรา 81) เพราะเสี่ยงที่จะถูกใช้ฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ กสม. จะแจ้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาต่อไป

 

แหล่งที่มาของข่าว : https://prachatai.com/journal/2024/02/108193

Loading

Total Views: 155 ,