‘อนุทิน’ปลดล็อคแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติช้า สั่ง’ให้ก่อนถอนทีหลัง’นำร่องเชียงราย

ปลดล็อคแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติช้า “อนุทิน” มีนโยบาย “ให้ก่อนถอนทีหลัง” เตรียมใช้เชียงรายนำร่อง นักกฏหมายแนะทำข้อเสนอร่วมให้ระดับนโยบาย

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมประชุมหารือการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ โดยมีว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ร่วมด้วยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ. โดยมีชาวบ้านชมรมไทยลื้อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.เชียงรายเข้าร่วม

ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ กล่าวว่า หากเทียบกับสัดส่วนปริมาณงาน คำร้องต่างๆ ทั้งการแปลงสัญชาติ มีมากเป็นหลักหมื่น มีบุคลากรเพียง 50-60 คน และไม่ใช่ระดับที่ตัดสินใจได้ทั้งหมด คนที่ตัดสินใจได้มีสัก 10 คน จึงเป็นข้อจำกัด และในส่วนภูมิภาค จังหวัดและอำเภอ ขึ้นกับสำนักทะเบียนอำเภอ ท้องถิ่น ซึ่งการไปติดต่ออำเภอ และมีการสลับหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มาใหม่ต้องศึกษากฎระเบียบ มีที่ไม่กล้าดำเนินการเนื่องจากเกรงผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่

ๆ เช่น ถิ่นที่อยู่ จะให้สัญชาติไทยไปก่อนและเมื่อตรวจสอบแล้วว่าคุณสมบัติไม่ครบถ้วนจะถอนในภายหลัง และได้นำเข้าที่ประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ที่เห็นต้องตรงกัน คือต้องยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติและสถานะบุคคล ให้รวมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผมเคยเป็นผู้บริหารสำนักการทะเบียน ต้องสั่งสมประสบการณ์และความชำนาญ เพราะมีหลายฉบับ พรบ.การทะเบียนราษฎร์ พรบ.สัญชาติ และกฎหมายรอง เช่น ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ประกาศคณะปฏิวัติ หากเจ้าหน้าที่รับคำร้องก็ต้องมาดูว่าเข้ากับฉบับไหน หากมีประมวลกฎหมายจะดีกว่า” รองผวจ.เชียงราย กล่าว

รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวอีกว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจ โดยนายอำเภอ ฯลฯ ทำให้เกิดความลักลั่น เพราะขึ้นกับตัวบุคคลซึ่งมุมมองไม่เหมือนกัน เช่น บางอำเภอเห็นว่าน่าเชื่อได้ว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่บางอำเภอก็ไม่ให้ ควรกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนว่าได้หรือไม่ได้ ไม่ควรให้ใช้ดุลยพินิจ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวในการปฏิบัติ

“จังหวัดเชียงรายมีกรณีสัญชาติและสถานะบุคคลจำนวนมาก  ในระดับจังหวัดเป็นปลัดจังหวัดรับผิดชอบโดยตรง คาดว่าในเดือนกันยายนนี้จะมีความชัดเจนขึ้นในกรอบการปฏิบัติ จังหวัดเชียงรายจะเน้นหนัก คือ ปัญหาสถานะบุคคลของ  3 กลุ่ม คือ 1. ผู้เฒ่าที่มี อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 2. พระภิกษุสามเณร และ 3. เด็กนักเรียนตัว G ที่มีจำนวนหลักหมื่นแต่น่าจะจัดการได้ไม่ยาก ขณะนี้กำลังสรุปฐานข้อมูลว่าในแต่ละอำเภอมีทั้งสามกลุ่มจำนวนเท่าไหร่ จังหวัดเชียงรายมีการกำหนดกรอบแนวทางที่ชัดเจน กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดชัดเจน มีการกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จ ซึ่งทั้งสามกลุ่มจะมีเวลาที่ต่างกันเนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนต่างกัน” รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าว

นางเตือนใจ กล่าวว่า ตัวเลขผู้เฒ่าไร้สัญชาติของจังหวัดเชียงราย มีจำนวน 16,178 ราย ขอเสนอให้ทุกอำเภอดำเนินการในมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ผู้เฒ่าสามารถเข้าถึงสิทธิโดยเร็ว โดยมูลนิธิพชภ. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ทำงานแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นางมาลา เมืองวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหาดทรายทอง ต.ริมโขง อ.เชียงของ กล่าวว่าบัตรหัว 6 ไปขอต่างด้าว แต่การขอแปลงสัญชาติไทย ต้องรออีก 5 ปี ซึ่งหลายคนอายุมากแล้ว 70 กว่าปี รอนานไม่ไหว ที่หมู่บ้านมีผู้เฒ่ากลุ่มนี้ประมาณ 24 คน

ด้าน นายชุติ งามอุรุเลิศ นักกฏหมาย กล่าวว่า กลไกเชิงโครงสร้างที่เสนอจากส่วนกลาง ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงกลุ่มปัญหาและการนำมาปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งอาจไม่ได้คำนึงถึงทรัพยากรในพื้นที่ว่าเพียงพอหรือไม่ เช่นเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น มาตรา 7 ทวิ เคยต้องอนุมัติที่รัฐมนตรี ก็แก้ไขเป็นระดับอำเภอ ทำให้แก้ไขได้เร็วขึ้น

“กรณีบัตรเลข 6 เขยื้อนช้ามาก จังหวัดทำได้แค่ผ่านเรื่องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งไปยังนายกฯ แม้จังหวัดจะแก้ไขปัญหาได้เยอะมากและส่งเรื่องไป ก็ไปติดคอขวดที่ระดับบน  เสนอให้ พชภ.จัดทำข้อเสนอร่วมกับจังหวัด ไม่เช่นนั้นหลายๆ คนที่นั่งในนี้คงตายไปก่อนที่จะได้สถานะ” นายชุติ กล่าว

 

ขอบคุณแหล่งที่มาของข่าว https://www.naewna.com/local/822880

Loading

Total Views: 1620 ,